- เอดส์ ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน (ไม่ได้ใส่ถุงยางอนามัย) และการใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกับผู้อื่น
- เอดส์สามารถป้องกันได้ โดยการใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเวลามีเพศสัมพันธ์ หรือโดยการเลิกเสพยา หรือโดยการใช้เข็มฉีดยาที่สะอาดทุกครั้งที่เสพยา แต่ก็มีคนไทยติดเชื้อใหม่ปีละเกือบ 20,000 ราย
- คนที่ติดเชื้อใหม่ในปัจจุบัน ติดมาจากคนที่ติดเชื้ออยู่ก่อนแล้ว แต่ไม่รู้ตัว เพราะไม่เคยไปตรวจ หรือไม่มีอาการอะไร
- คนที่ติดเชื้ออาจไม่มีอาการอะไรเลยเป็นปี ๆ หรืออาจมีอาการป่วยขึ้นมากระทันหัน จนเสียชีวิตได้
- การตรวจAnti-HIV เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี (เอดส์) โดยไม่ต้องรอให้มีอาการ
- สามารถตรวจพบได้หลังจากรับเชื้อมาแล้ว 2-6สัปดาห์
- ถ้าอยากตรวจพบให้เร็วขึ้น เช่นภายหลังรับเชื้อมาได้เพียง 3-7วัน ต้องตรวจด้วยวิธี Nucleic Acid Technology (NAT) ปัจจุบันคลีนิคนิรนามให้บริการตรวจด้วยวิธี NATทุกราย ถ้าการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี (เอดส์) ด้วยวิธีแรก แล้วไม่พบการติดเชื้อ
- คนไทยทุกคน ทุกสิทธิ์ สามารถไปตรวจหา Anti HIV ได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศไทย โดย ตรวจฟรีได้ปีละ 2 ครั้ง ตามชุดสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง)
- ใครบ้างควรตรวจเอดส์? ทุกคนที่ติดยาเสพติดโดยการฉีด และทุกคนที่เคยหรือกำลังมีเพศสัมพันธ์ โดยไม่ได้ใส่ถุงยางอนามัยแม้เพียงครั้งเดียว ทั้งกับคนที่รู้จัก (เช่น สามีหรือภรรยาของตัวเอง) หรือไม่รู้จัก ถือว่า มีพฤติกรรมที่มีโอกาสติดเอดส์ เพราะเราไม่รู้ว่าคนที่เรามีเพศสัมพันธ์ด้วยนั้น เคยมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ติดเอดส์มาก่อนหรือเปล่า ดังนั้น ว่าไปแล้ว คนเกือบทุกคนสมควรจะตรวจเอดส์อย่างน้อยสักครั้งหนึ่งในชีวิต
- ก่อนการตรวจเอดส์ทุกครั้ง ผู้ตรวจควรมีข้อมูลและความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคเอดส์ และการตรวจเอดส์ ซึ่งอาจหาได้จากการขอรับคำปรึกษาเป็นรายบุคคล หรือหาอ่านได้จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เช่น สายด่วน 1663 หรือที่ www.trcarc.org หรือ www.adamslove.org
- ปัจจุบัน เอดส์กลายเป็นโรคที่รักษาได้ แม้จะไม่หายขาด และคนไทยทุกคนมีสิทธิ์รักษาฟรี
- ปัจจุบัน คนที่ติดเชื้อต้องไม่ป่วย หรือเสียชีวิตจากเอดส์อีกแล้วถ้ารู้ตัวแต่เนิ่นๆและรักษาแต่เนิ่นๆ
- ถ้ารู้ตัวเร็ว และรักษาเร็ว อาจไม่ต้องกินยาไปตลอดชีวิต
- คนที่ติดเชื้อเอชไอวี สามารถอยู่ในสังคมร่วมกับคนอื่นได้ โดยไม่เป็นภัยหรือเป็นภาระกับใคร
- จึงเป็นประโยชน์ และไม่น่ากลัวที่เราจะไปตรวจเอดส์กันอย่างน้อยก็สักครั้งหนึ่งในชีวิต ตรวจเพื่อให้รู้ว่าเราไม่ติดเชื้อ ชีวิตจะได้ก้าวต่อไปอย่างมั่นใจ(ตรวจเพื่อก้าวต่อ)
ข้อควรรู้ ก่อน การตรวจเอดส์
(Pre-test counseling / Pre-test information)
- เรามีโอกาสจะติดเอดส์ไหม? เช่นเคยเสพยาโดยการฉีด หรือเคยมีเพศสัมพันธ์กับใครโดยไม่ได้ใส่ถุงยางอนามัยหรือไม่ (แม้กระทั่งกับสามีหรือภรรยาของเราเอง เพราะเราไม่รู้ว่าเขาเคยมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อมาก่อนหรือไม่)
- รู้ประโยชน์ของการตรวจหรือไม่ เช่น ถ้าตรวจไม่เจอ จะได้เริ่มต้นป้องกันตัวเองอย่างจริงจัง หรือถ้าตรวจเจอ ต้องถือว่าโชคดีที่รู้ตัวก่อนที่จะป่วยขึ้นมา จะได้เข้าสู่กระบวนการรักษาแต่เนิ่น ๆ จะได้ไม่ป่วยหรือเสียชีวิตจากเอดส์ อีกทั้งสามารถป้องกันคนที่เรารักและคนอื่นๆ ไม่ให้ติดเชื้อจากเรา
- รู้หรือว่าตอนนี้ เอดส์รักษาได้ แม้จะไม่หายขาด คนไทยทุกคนมีสิทธิ์ได้รับการรักษาฟรีหมด และถ้ารักษาแต่เนิ่นก็จะได้ไมป่วย หรือเสียชีวิตจากโรคเอดส์ สามารถมีอายุยืนยาวได้เท่ากับคนอื่น และไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่น
- ต้องรับรู้ว่าการตรวจเอดส์อาจเกิดผลเสีย (โทษ)ก็ได้ เช่น คนอื่นอาจคิดว่าเราเป็นคนไม่ดี จึงต้องไปตรวจ ทั้งๆ ที่คนที่ไปตรวจน่าจะได้รับการยกย่องว่าเป็นคนที่มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อครอบครัว และต่อสังคม หรือถ้าตรวจเจออาจเป็นทุกข์ใจแสนสาหัสในช่วงต้น แต่ถ้าได้รับการปรึกษาและเข้าใจกระบวนการดูแลสุขภาพ จะทำให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตไปได้
- ถ้าผลตรวจออกมาเป็นลบ (ไม่ติดเชื้อ) หรือถ้าออกมาเป็นบวก (ติดเชื้อ) เราจะทำอะไรต่อ รวมทั้งจะบอกหรือไม่บอกผลเลือด (ทั้งบวกและลบ) กับใคร ด้วยเหตุผลอย่างไร
- ต้องชั่งดูว่าประโยชน์ของการตรวจเอดส์ ซึ่งล้วนแต่เป็นความจริง และมีประโยชน์สำหรับทุกคนเพื่อวางแผนในการดูแลสุขภาพ จะมีมากกว่าผลเสียที่ล้วนเป็นเพียงการคาดเดาหรือไม่ ถ้าประโยชน์มีมากกว่า เราสมัครใจจะตรวจจริง ๆ นะ ไม่มีใครบังคับหรือหลอกเรานะ
- ต้องเข้าใจเรื่องของWindow period กล่าวคือ ระยะเวลาที่ยังอาจตรวจไม่เจอ เพราะเพิ่งได้รับเชื้อเข้ามาไม่ถึง 14 วัน เป็นต้น ดังนั้น ในระหว่างที่รอไปอีก 1-2สัปดาห์เพื่อไปตรวจใหม่ จึงยังต้องใส่ถุงยางอนามัยกับคู่นอนไปก่อน แม้ว่าจะตรวจครั้งแรกไม่เจอแล้วก็ตาม
- ต้องเข้าใจความสำคัญของการพาคู่นอนมาตรวจพร้อมกัน จะได้บอกผลให้กันและกันง่ายขึ้น และจะได้ปลอดภัยจริง ๆ แม้จะไม่ใส่ถุงยางอนามัย
- ในกรณีที่ตรวจแล้วผลเป็นลบ จะต้องมีความเข้าใจว่าจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในอนาคตอย่างไร หรือป้องกันตนเองอย่างไร จะได้ไม่ติดเอดส์ไปตลอดชีวิต เช่น การใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเวลามีเพศสัมพันธ์กับใครที่ไม่เคยรู้ผลเลือดเอดส์ของตัวเองเลย หรือการเลิกเสพยา หรือใช้เข็มสะอาดทุกครั้งที่ฉีดยาเสพติดเข้าเส้นเลือด
- และถ้าพลาดพลั้งไป มีพฤติกรรมที่อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีอีก ต้องรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับยาป้องกัน และควรตรวจเอดส์ซ้ำ โดยที่ในระหว่างรอไปตรวจเลือดซ้ำ จะต้องใส่ถุงยางอนามัยกับคู่นอนของตัว ซึ่งเคยไปตรวจเอดส์แล้วไม่พบไปก่อน
ที่มา : http://www.redcross.or.th/forum/23/30883